ในคอกคิดอันคับแคบของข้าพเจ้า (Optimism is Ridiculous)

มนุย์เกิดมาเพื่อแสวงหาในสิ่งซึ่งกรอบเนชันแนลของเขาเรียกมันว่าอรรถประโยชน์

Archive for พฤศจิกายน, 2006

ประชาธิปไตยในฐานะน้ำหนักของชีวิต (Unbearable Lightness of Being No Democracy)

Posted by ปราชญ์ วิปลาส บน 13 พฤศจิกายน, 2006

มันเริ่มจากบทสนทนาง่ายๆ ก่อนที่วงเบียร์ของน้องๆ ที่เปรียบเสมือนเพื่อนของผมจะอุบัติขึ้น

เราคุยกันว่า คิดว่าประเทศไทยในทุกวันนี้ พร้อมแล้วหรือยังกับการที่จะมีประชาธิปไตย

มันคงฟังดูแปลกๆ กับการตั้งคำถามถึงการมีอยู่ ของสิ่งซึ่งหลายๆคนเชื่อว่าได้อุบัติเงาร่างขึ้นตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แต่มันก็สะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า ในสายตาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ประเทศนี้ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรืออาจจะยังไม่เคยได้มีประชาธิปไตยกันอย่างจริงๆจังๆเสียที

ในคำถามนั้น คนถามได้ถามภายใต้กรอบที่ว่า ให้ตอบตามประชาธิปไตยในปัจเจกนิยามใจ ของใครคนใดที่สนใจจะตอบ

แน่นอน ภายใต้กรอบดังกล่าว เราจึงได้คำตอบที่หลากหลาย เพราะความคิดที่มีต่อประชาธิปไตยในใจของแต่ละคน ก็เหมือนความคิดที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดในใจแต่ละคน คือย่อมไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันทั้งหมด หรืออาจจะเหมือนกันที่จุดหมาย แต่แตกต่างกันไปในเชิงโครงสร้าง เช่นทุกคนต้องการความมั่นคง แต่ความมั่นคงในความรู้สึกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น รูปแบบที่ใช้ในการสร้างความมั่นคงจึงต่างกัน แต่ก็เป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงของตนเหมือนกัน

ในความคิดของผม หากเรามองประชาธิปไตยตามแง่แห่งความคำ อันมีรากมาจากคำว่าประชา อันหมายถึง ประชาชน สนธิรวมเข้ากับอธิปไตย ซึ่งหมายความว่าความเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยจึงหมายถึงความเป็นใหญ่ของปวงชน เมื่อเทียบกับสภาพสังคม สภาพจิตใจของคนในปัจจุบันแล้ว ผมเห็นว่าการระบุความนิยามแค่นั้นคงแคบ และดูเป็นเชิงปรัชญาเกินกว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจได้ในวงกว้าง

เพราะภายใต้ความคำดังกล่าว มักจะมีการขยายต่อให้ฟังอีกนิดว่า ก็คือระบอบการปกครองที่ให้สิทธิ์ประชาชนในการส่งเสียง เรียกร้องซึ่งความต้องการ หรือการแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเสรี เพราะเป็นระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่

แนวขยายความดังกล่าวนั้น ได้นำมาซึ่งการใช้ประชาธิปไตยอย่างพร่ำเพื่อ สุรุ่ยสุร่าย และกลายเป็นการบิดผัน ซึ่งความหมายเชิงปฏิบัติของประชาธิปไตย ดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และทำให้หลายๆคน หรือพรรคการเมืองบางพรรค ก่อนิยามง่ายๆ เพื่อใช้เป็น Democratic Gimmick ว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนได้ออกความคิดในรูปเสียงกากบาท เป็นการเปิดโอกาส ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง

ทั้งที่จริงๆแล้วการเลือกตั้งนั้น เป็นแค่เพียงองค์ประกอบหนึ่งของประชาธิปไตย หาได้ใช่ตัวตัดสินความเป็นประชาธิปไตยไม่

เหมือนบอกว่า การที่คุณมีขา ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดคน เพราะสิ่งมีชีวิตชนิดหมาก็มีขาเหมือนกัน

การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย…แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง

ในทรรศนะของผม ประชาธิปไตยเป็นเรื่องราวของการเคารพในสิทธิ์ คือในขณะที่ทุกคนเคารพและเรียกร้องซึ่งสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของตัวเองนั้น พวกเขาก็ต้องไม่ลืมเคารพซึ่งสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้อื่นด้วย เป็นการใส่ใจในเสียงทุกเสียง

การไม่เคารพในเสียงฉันใด…ย่อมหมายถึงการไม่เคารพในความคิดฉันนั้น

เราอาจจะต้องตามเสียงส่วนใหญ่ว่าด้วยกฎของการเลือกตั้ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเสียงส่วนน้อยจึงสมควรจะถูกเพิกเฉยไป เราควรจะต้องทำความเข้าใจในเสียงส่วนน้อย ซึ่งถือเป็นเสียงต่างนั้น ว่ามีที่มาทางความคิดอย่างไร หรือเพื่อได้หยิบเอาข้อดีจากเสียงส่วนน้อยมาใช้ เหมือนเป็นการนำเอาเสียงกระแสรองมาใช้ควบคู่ไปกับเสียงกระแสหลัก ซึ่งนั่นถือเป็นการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง

ดังนั้น ผมจึงคิดว่าแม้กระทั่งการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ก็ยังถูกใช้ไปอย่างผิดๆ เพราะมันกลายเป็นการให้สิทธิ์ขาดแก่ฝ่ายที่ถูกเรียกว่าผู้ชนะ และปฏิบัติต่อเสียงอีกฝ่าย (ซึ่งไม่ได้หมายถึงแต่เพียงพรรคที่ไม่ได้รับเลือก แต่หมายรวมถึงเสียงของประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆด้วย) โดยเพียงให้สิทธิ์ในการครอบครองคำว่าผู้แพ้ และฐานะของเสียงส่วนน้อยเท่านั้น

ซึ่งทำให้ผมเห็นด้วยกับความคิดของผู้ถามที่ว่า การเลือกตั้งนี่เอง ที่เป็นตัวเบียดบัง จำกัด ขัดขวาง ลิดรอนสิทธิของเสียงส่วนน้อยไปอย่างแนบเนียนที่สุด ซึ่งแบบนั้นย่อมไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นเพียงการเอาชนะกันด้วยกำลังที่มากกว่า ผิดแผกตรงที่ไม่ใช่กำลังทางกาย ไม่ใช่กำลังทางอาวุธ ไม่ใช่กำลังทางเหตุผลหรือหลักฐานพิสูจน์ แต่เป็นกำลังทางจำนวนเสียงตามสิทธิ์

ของแบบนั้นผมเรียกว่าประชาธิปไตยฉบับบูดเบี้ยว…
เป็นประชาธิปไตยแบบ…พวกมากลากไป

และในสังคมไทยปัจจุบันที่ทวีความเป็นปัจเจกมากขึ้นเรื่อยๆนั้น ย่อมยังไม่น่าจะพร้อมกับการมีประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีประชาธิปไตยโดยที่ยังไม่มีเกณฑ์พิจารณาร่วมใดใด ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือประชาธิปไตยที่ดีนั้นต้องมีคุณลักษณะอย่างไร เพราะรังแต่จะทำให้เกิดการเรียกร้องแต่เฉพาะเพื่อตัวเอง โดยต่างก็อ้างว่าตนมีสิทธิ์ หรือเป็นการพยายามเอาชนะกันด้วยกำลังเสียงที่มากกว่า อย่างที่เป็นๆกันอยู่

เป็นความเอาแต่ใจแบบปัจเจกเผด็จการ…

การสนทนาเมื่อวานได้ดำเนินไปถึงจุดที่ “ทำให้ผมรู้สึก” ว่าในทุกวันนี้ ประชาธิปไตยตกอยู่ในฐานะของสิ่งที่ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่จะอย่างไรก็จำเป็นจะต้องมี

หลายคนไม่รู้ว่าทำไมจะต้องมีประชาธิปไตย มีแล้วดีอย่างไร แต่คิดว่ามีประชาธิปไตยแล้วดี และที่คิดว่ามีประชาธิปไตยแล้วดี ส่วนหนึ่งคงเกิดจากการเปรียบเทียบ จากการที่ได้รับฟังมาตลอดว่า เผด็จการ คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสม์ การปกครองแบบอื่นๆนั้นไม่ดี และอีกส่วนหนึ่ง คงเป็นเพราะประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ได้รับการเรียกร้องให้เกิดมีมาตลอดเวลา เป็นกระแส เหมือนเด็กแนวต้องเดินตามระเบียบเดียวกันที่เรียกว่าการเป็นอิสระจากระเบียบ

ตกอยู่ในฐานะของน้ำหนักชีวิตอย่างหนึ่ง…

โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่ามนุษย์เกิดมากับวิญญาณที่ว่างเปล่า มีชีวิตที่โหวงเหวงเคว้งคว้างจนต้องหาน้ำหนักต่างๆมายึดถ่วง ความรัก ภาระหน้าที่ อุดมการณ์ ความเชื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ใดใดก็ตามอันจะสามารถทำให้คนๆหนึ่งรู้สึกถึงน้ำหนักของชีวิตตนเองได้

เรา “บางคน” หาความรักมาถ่วง เพื่อเติมเต็มความโหวงเหวงเหว่ว้าตามสัญชาตญาณ สร้างภาระหน้าที่เพื่อกลบฝังความไร้สาระในฐานะของการดำรงชีวิต มีอุดมการณ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์แก่ตน มีความเชื่อเพื่อถมเติมความไร้ที่พึ่งของใจ เชื่อในชาติเพื่อถมที่ว่างความสามัคคี นับถือศาสนาเพื่อถมเติมความว่างเปล่าทางศีลธรรมในใจ เพื่อตนได้รู้สึกว่าตนเป็นคนดี ยกย่องกษัตริย์เพื่อถมเติมความรู้สึกในการรู้สำนึกคุณคน

เชื่อในประชาธิปไตย…เพื่อถมเติมความเคว้งคว้างทางสิทธิ์เสียงของตน
เชื่อในประชาธิปไตย…เพื่อบอกได้ว่าตนคือชนที่มีความเป็นอารยะ

และในความยึดถ่วงในสิ่งใดใดดังกล่าวเพื่อการใดใดดังกล่าว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่ามีคนบางส่วนที่ยึดถ่วงภายใต้ความรวมสั้นๆว่า ยึดไว้แล้วดี ถ่วงไว้แล้วดี หรือไม่ ก็เป็นการยึดถ่วงไว้เพื่อทำตัวเองให้แตกต่าง ใช้การยึดถ่วงนั้นเพื่อยกตัวเองสูงขึ้น เพื่อพูดว่าคนที่ไม่มีการยึดถ่วงเป็นพวกไร้สารพัด ไร้รัก ไร้จุดยืน ไร้ความสามัคคี ฯลฯ

ทั้งที่จริงๆแล้ว คนที่ไร้สารพัดนั้นก็อาจจะกำลังใช้ความไร้สารพัดดังกล่าวเป็นสิ่งยึดถ่วงเหมือนกัน และก็อาจเป็นไปเพื่อแยกตนออกมาจากพวกที่กล่าวหาว่าเขาเป็นพวกไร้สารพัดเช่นกัน

สำคัญที่สุดคือ เพียงยึดถ่วงอย่างมีสติ เพียงยึดถ่วงอย่างพึงรู้ว่า แท้จริงแล้วตนถือเหตุผลใดในการยึดถ่วงนั้น

ไม่ใช่เพียงยึดถ่วง…เพื่อกดถ่วงคนอื่นให้ต่ำลงกว่าตนเอง

Posted in บทความ | 4 Comments »